ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน ในแมวเพศผู้ Urinary obstruction in male cats

Last updated: 9 พ.ค. 2563  |  81547 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน ในแมวเพศผู้ Urinary obstruction in male cats

ภาพรวม
                แมวเพศผู้มีแนวโน้มที่จะเกิดการอุดตันในทางเดินปัสสาวะส่วนปลายได้ง่าย สาเหตุโน้มนำให้เกิด เช่น ความเครียด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรืออาหาร โดยสิ่งที่มักอุดตัน ได้แก่ สารจากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ตะกอนโปรตีน เมือก หรือ นิ่วก้อนเล็กๆ สาเหตุอื่นๆ เช่น เนื้องอก แผลเป็นที่เกิดจากการบาดเจ็บของท่อทางเดินปัสสาวะ ส่วนการทำหมันตั้งแต่อายุน้อยไม่ได้มีผลลดขนาดของท่อทางเดินปัสสาวะ อายุที่พบส่วนใหญ่คือ 1-10  ปี

 

อาการ
                อาจมีตั้งแต่ เบา จนถึง รุนแรง อาการที่สังเกตได้ เช่น
                - ปัสสาวะลำบาก
                - ปัสสาวะ หลายครั้ง แต่ปริมาณน้อย
                - ปัสสาวะมีเลือดปน
                - เจ็บเมื่อพยายามปัสสาวะ
                - พฤติกรรมปัสสาวะ ผิดปรกติ เช่น การปัสสาวะนอกกระบะทราย แต่ปรกติปัสสาวะในกระบะทราย
                - อาเจียน             
                - หัวใจเต้นช้าผิดปรกติ
                แต่หากเป็นรุนแรง คือไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้เลย สังเกตได้จากการที่พยายามเข้ากระบะหรือพยายามเบ่งปัสสาวะหลายครั้ง แต่ไม่มีปัสสาวะออกมา โดยแมวอาจหลบหนีซ่อนตัว ร้อง อยู่ไม่สุข เนื่องจากไม่สบายตัว จากนั้นอาจมีอาการซึม ไม่กินอาหารตามมา ภาวะนี้เป็นภาวะร้ายแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ใน 3-6 วัน อาจเห็นท้องขยายหรือคลำพบก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่ขยายตึงในท้อง ยกเว้นว่ากระเพาะปัสสาวะนั้นแตกอาจคลำไม่พบ หากไม่รุนแรงภาวะนี้อาจหายไปได้ใน 5-7 วัน แต่อาจกลับมาเป็นใน 6-12 เดือน อย่างไรก็ตามไม่ควรรอให้หายเอง เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อไตอย่างถาวรได้
                ซึ่งภาวะนี้อยู่ในกลุ่มของ โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว (Feline lower urinary tract disease; FLUTD) ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ได้แก่
                - แมวที่กินแต่อาหารเม็ด
                - เลี้ยงในบ้าน
                - มีนิสัย ขี้กลัว ขี้ตกใจ หรือดุ
                - ความเครียด
                - เลี้ยงรวมกับแมวหลายตัว ในบ้านเดียวกัน
                - การมีกระบะทรายไม่เพียงพอ (ควรมีกระบะทรายมากกว่าจำนวนแมวอย่างน้อย 1 อัน)
                การเกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดก้อนเมือกขึ้นมา (หรือ Feline Urologic Syndrome; FUS) เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดบางอย่าง เช่น การมีถุงยื่นจากกระเพาะปัสสาวะ (Vesico-urachal diverticuli) ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น หรือภาวะนี้อาจเกิดจากการอักเสบเรื้อรับของกระเพาะปัสสาวะก็ได้

การวินิจฉัย
                ในแมวที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบควรตรวจ
                - ตรวจเลือด ดูค่าความสมบูรณ์ของเลือด เคมี และเกลือแร่ในเลือด เพื่อดูภาวะโรคอื่นที่อาจเป็นร่วมด้วย และดูการทำงานของไต โดยอาจมีภาวะโรคไตร่วมด้วยได้หากมีการอุดตันทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน
                - ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูลักษณะทางเคมี องค์ประกอบ ตะกอน และอาจทำการเพาะเชื้อแบคทีเรีย
                - X-ray อาจพบนิ่วบางชนิดได้ (Urinary stone)โดยอาจใช้เทคนิคเสริม เพื่อให้มองเห็นนิ่วชนิดที่โปร่งรังสี หรือเพื่อตรวจหาการอุดตัน และตีบแคบของทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย
                - Ultrasound อาจตรวจพบนิ่วได้เช่นกัน
                - อาจพิจารณาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปรกติร่วมด้วย

 

การรักษา
                ในแมวที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัด ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน หากมีการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย อาจใช้การดันน้ำสวนเข้าไปจากปลายอวัยวะเพศ เพื่อดันก้อน ที่อุดอยู่กลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจต้องวางยาซึม หรือยาสลบ เพื่อทำการสอดท่อส่วนปัสสาวะเข้าไปได้สะดวกขึ้น และอาจทำการ flush ล้างกระเพาะปัสสาวะเพื่อล้างตะกอนภายในกระเพาะปัสสาวะออกมาทางท่อสวนปัสสาวะร่วมด้วย และควรคาท่อปัสสาวะนั้นไว้ต่ออีกสักระยะ เพื่อรอให้ทางเดินปัสสาวะบวมลดลง จากนั้นจึงลองถอดท่อสวนปัสสาวะแล้วดูการขับถ่ายปัสสาวะอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสามารถทำได้อย่างปรกติหรือไม่ ก่อนจะรับกลับบ้าน นอกจากนี้ การให้ยาลดปวด การเปลี่ยนอาหาร หรือการใช้ยาช่วยผ่อนคลาย ก็มีความจำเป็นเช่นกัน
                ในกรณีที่ไม่สามารถทำการ flush ล้างนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ ต้องทำการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ (Cystotomy) เพื่อนำนิ่วก้อนนั้นออก
                หากเกิดการอุดตันซ้ำ หรือไม่สามารถแก้ไขการอุดตันตามวิธีข้างต้นได้ อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อขยาย และเปิดท่อปัสสาวะที่ บริเวณท้ายตัวแทน (Perineal Urethrostomy; PU) ซึ่งเป็นการเปิดแบบถาวร สามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้

 

การดูแลหลังผ่าตัด
                ควรเปลี่ยนทรายแมวเป็นแบบเม็ด หรือแบบกระดาษ ชั่วคราวหลังผ่าตัด และอาจต้องทำการใส่ท่อสวนปัสสาวะ อย่างน้อย 2-3 วัน และควรใส่ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar) 3 – 4 สัปดาห์
                หลังผ่าตัดอาจมีอาการ
                - ปัสสาวะมีเลือดปน (พบได้บ่อยสุด มักเป็น 3-5 วัน)
                - แผลบวม
                - ปากทางที่เปิดท่อปัสสาวะใหม่ไว้ตีบแคบ อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งสามารถทำให้เกิดการอุดตันได้ (พบได้ไม่บ่อย)
                การป้องกันขึ้นกับสาเหตุของการอุดตัน การผ่าตัด Perineal urethrostomy นี้ไม่ได้ป้องกันการเกิดนิ่วหรือการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ
               

 

ภาวะแทรกซ้อน (พบได้ 12.8 - 25%)
                ที่พบได้คือ
                - เลือดออก
                - ท่อปัสสาวะที่เปิดใหม่เกิดการตีบแคบ(เกิดได้บ่อยที่สุด)
                - ปัสสาวะรั่วออกนอกท่อปัสสาวะที่เปิดไว้ เข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง (พบได้ 25%) ซึ่งอาจโน้มนำให้เกิดเนื้อตาย หรือรูที่เปิดไว้เกิดการตีบแคบลง
                - ปัสสาวะกระปริดกระปรอย มักพบชั่วคราวหลังผ่าตัด แต่หากเส้นประสาทเสียหายร่วมด้วยอาจเป็นถาวร
                - แผลแตก
 

                นอกจากนี้ ในระยะยาว 28% ของแมวที่ทำการผ่าตัด Perineal urethrostomy มักเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากมีท่อทางเดินปัสสาวะที่สั้นลงทำให้ติดเชื้อย้อนขึ้นไปได้ง่ายขึ้น และอาจใช้ครีม petroleum-based jelly ทางรอบๆบริเวณที่ทำการเปิดท่อปัสสาวะที่ท้ายตัว เพื่อลดการเกิดผิวหนังอักเสบจากปัสสาวะกัด
               


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้