Last updated: 9 พ.ค. 2563 | 16314 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาพรวม
ภาวะไส้เลื่อนข้างก้น เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic diaphragm) อ่อนแอ โดยปรกติแล้วกล้ามเนื้อนี้จะช่วยพยุงลำไส้ตรง (Rectum) และกั้นอวัยวะภายในให้อยู่ในช่องท้อง และไม่มาเบียดลำไส้ตรง สาเหตุโน้มนำที่ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดและมีแนวโน้มจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น พันธุกรรม สายพันธุ์ที่เสี่ยง โครงสร้างหางสั้นหรือหางม้วน หรืออาจเกิดตามมาจากภาวะอื่นที่ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ เช่น การเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะลำบาก (จากโรค เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว ท้องเสีย) ในสุนัขพบได้ 0.1-0.4% โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในสัตว์อายุมาก ช่วง 7-9 ปี โดยเฉพาะสุนัข พบว่า 83-93% ของสุนัขที่เป็นโรคนี้คือตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน พบได้น้อยในเพศเมีย สุนัขพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่
- Pekingese
- Boston terriers
- Corgis
- Boxer
- Poodles
- Bouviers
- Old English Sheepdogs
- Mixed breed
ภาวะไส้เลื่อนในแมว พบได้น้อยกว่า อายุที่พบได้บ่อยคือ 10 ปี พบได้บ่อยในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย พันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ Domestic short hair และมักพบเป็น สองข้างมากกว่า
อาการ
อาการที่เห็นได้ชัดคือ มีก้อนบวมข้างรูก้นข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง โดยภายในก้อนนั้นอาจมีอวัยวะที่เคลื่อนออกมาจากในช่องท้องหรือเชิงกราน เช่น ลำไส้ ต่อมลูกหมาก ไขมัน หรือ กระเพาะปัสสาวะ อาการที่แสดงให้เห็น ขึ้นกับอวัยวะที่เข้าไปติดอยู่ในก้อนนั้น เช่น
- ท้องผูก
- เจ็บเมื่อถ่ายอุจจาระ
- เจ็บเมื่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะไม่ออก
- ปัสสาวะกระปริดกระปรอย
- ปวดท้อง
- ซึม อ่อนแรง
- ไม่กินอาหาร
- กระดูกหางผิดรูป
การวินิจฉัย
สัตวแพทย์จะทำการล้วงก้น และคลำตรวจรอบข้างรูก้น เพื่อพิจารณาว่าเป็นก้อนเนื้องอกหรือไส้เลื่อน รวมถึงดูว่าเป็นข้างซ้ายหรือขวา เป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้าง โดยขั้นตอนนี้ในสัตว์ป่วยบางรายอาจต้องวางยาซึมหรือให้ยาลดปวดร่วมด้วย นอกจากนี้อาจพิจารณาตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเพิ่มเติม เพื่อดูโรคที่อาจเป็นร่วมด้วย จากนั้นอาจถ่ายภาพทางรังสี (X-ray) และอัลตร้าซาวน์ (Ultrasound) เพื่อดูขนาด ตำแหน่ง และชนิดของอวัยวะที่เคลื่อนออกมาอยู่ในไส้เลื่อน
เมื่อพบอาการบวมบริเวณข้างก้น ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ เนื่องจากการที่อวัยวะเข้าไปติดในก้อนนั้นอาจอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอวัยวะที่เคลื่อนเข้าไปติดอาจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ และควรปรับสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนการผ่าตัด
ภาวะไส้เลื่อนนี้ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งอาจทำให้การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (Colon) บีบตัวผิดปรกติ นอกจากนี้อาจรบกวนการขับถ่ายปัสสาวะอีกด้วย เนื่องจากในบางครั้งกระเพาะปัสสาวะเคลื่อนออกมาจากช่องท้อง บิดหมุนขึ้นไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้ขัดขวางการขับถ่ายปัสสาวะรวมถึงอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่ได้
ควรผ่าตัดฉุกเฉินหากสัตว์ป่วยแสดงอาการปวดท้องรุนแรง ปัสสาวะไม่ได้ และตรวจพบลำไส้เล็กถูกรัดอยู่ในก้อนไส้เลื่อนนั้น
การรักษา
กรณีที่ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน การรักษาจะแบ่งเป็นการรักษาทางยา และการผ่าตัด โดยการรักษาทางยาจะทำเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดแก้ไข แต่มักไม่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมอาการและไม่ให้เป็นมากขึ้น การรักษาทางยา เช่น ยาสวนก้น ยาทำให้อุจจาระนิ่ม การให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด การปรับอาหาร และยาลดปวด
ส่วนการผ่าตัด จะทำเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน รวมถึงยึดอวัยวะที่เคลื่อนเข้ามาในก้อนไส้เลื่อนกับผนังช่องท้อง เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยใช้วัสดุเย็บหรืออาจใช้ตาข่ายสังเคราะห์ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน รวมถึงการย้ายกล้ามเนื้อจากขามาช่วยปิดรูทะลุในบางกรณี นอกจากนี้แนะนำให้ทำหมันสัตว์ป่วยทุกตัวขณะทำการผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเลย โดยเฉพาะตัวผู้ เพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำ
ในแมวการรักษาทางยาเพียงอย่างเดียว พบ 16% ได้ผลดี 53% ได้ผลแค่บางส่วน และ 31% ไม่ได้ผลเลย หากอาการที่เป็นไม่รุนแรง แนวโน้มการตอบสนองต่อการรักษาทางยาจะดีกว่า อย่างไรก็ตามการผ่าตัดยังเป็นการรักษาที่แนะนำที่สุด
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัดสัตวแพทย์อาจจ่ายยาต้านจุลชีพ ยาลดปวด รวมถึงปรับเปลี่ยนอาหารให้มีกากใยเยอะขึ้น ร่วมกับยาช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดขณะขับถ่าย และป้องกันแผลแตก
สัตว์ป่วยควรงดกิจกรรมหนัก และกักบริเวณให้อยู่อย่างสงบเงียบ เป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด รวมถึงควรใส่ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar) เพื่อป้องกันการเลียแผล และอาจประคบเย็นที่แผลผ่าตัดเพื่อลดบวม
โดยทั่วไปการผ่าตัดประสบความสำเร็จถึง 61 – 92%
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการป้องกันโรคนี้ที่ชัดเจน แต่พบว่าโรคนี้พบน้อยในสุนัขตัวผู้ที่ทำหมันแล้ว ดังนั้นจึงควรทำหมันสุนัขตัวผู้ ในกรณีที่ไม่ได้ต้องการนำไปใช้เพื่อเป็นพ่อพันธุ์ต่อไป
ภาวะแทรกซ้อน
แผลติดเชื้อ (6-43%) อาจลามไปถึงไส้ตรง และต่อมก้นได้ นอกจากนี้พบแผลแตกได้ตั้งแต่ 0-29%
อุจจาระลำบาก พบได้ 0-33% พบได้ชั่วคราวหลังผ่าตัด เกิดจากการยืดของกล้ามเนื้อ หรืออาจเป็นถาวรในกรณีที่เป็นไส้เลื่อนทั้งสองฝั่ง และเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทรอบข้าง (พบ 10-15%)
ภาวะเจ็บปวดขณะอุจจาระ (3-43%) อาจเกิดจากการอักเสบ เจ็บปวด ความตึงหลังผ่าตัด ลำไส้ตรงขยายขนาดถาวร การที่วัสดุเย็บรัดลำไส้หรือทะลุลำไส้ (อาจทำให้ติดเชื้อตามมา) ในรายที่ทำการเย็บยึดตรึงลำไส้ใหญ่ไว้พบการปวดเบ่งนี้ได้ 44% และหากเป็นภาวะนี้เรื้อรังอาจโน้มนำให้เกิดลำไส้ตรงทะลักออกจากรู้ทวารได้ (0-17%) แต่จะพบได้น้อยกว่าในรายที่เย็บตรึงลำไส้ตรงไว้
เส้นประสาทขาหลังบาดเจ็บเสียหาย (Sciatic nerve injury) พบได้ประมาณ 5% อาจเกิดจากการบาดเจ็บขณะผ่าตัด มักพบได้หลังฟื้นจากยาสลบทันทีและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาจมีอาการเจ็บขาหลัง ขาหลังอัมพาต มีความผิดปรกติทางระบบประสาทที่ขาหลัง หากแก้ไขภาวะนี้ได้ทันเวลา อาจสามารถกลับมาใช้ขาได้เป็นปรกติหรือเกือบปรกติได้ในระยะเวลาหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
เกิดความผิดปรกติต่อทางเดินปัสสาวะพบ 0-15% โดยพบกระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัว 10-29% ในรายที่มีกระเพาะปัสสาวะเคลื่อนออกมาในก้อนไส้เลื่อนด้วย ภาวะฉี่กระปริดกระปรอยพบ 4-37% ภาวะนี้อาจเกิดจากเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ หรือท่อปัสสาวะส่วนปลายได้รับบาดเจ็บ หรือตัวกระเพาะปัสสาวะเอง
การกลับมาเป็นซ้ำ พบได้ตั้งแต่ 0-70% ขึ้นกับเทคนิคที่ใช้ผ่าตัด วัสดุที่ใช้ผ่าตัด ประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัด การผ่าตัดซ้ำ (ในกรณีที่เคยเป็นมาก่อนหน้า) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้าง และการที่สุนัขได้ทำหมันหรือไม่
7 เม.ย 2561
7 เม.ย 2561
6 ก.ย. 2559
6 ก.ย. 2559